สวรรค์ชั้นที่ ๑


ชั้นจาตุมหาราชิกาเทวภูมิ



สวรรค์ชั้นนี้เป็นชั้นต่ำสุดของสวรรค์ 6 ชั้น

เทวภูมิอันดับที่ ๑ นี้ เป็นแดนแห่งความสุข ที่สถิตอยู่แห่งปวงเทพยดาชาวฟ้าผู้อุบัติเทพ มีเทวราชผู้ยิ่งใหญ่ ๔ พระองค์ คือ
  1. ธตรฐมหาราช ประจำอยู่ทิศตะวันออก
  2. วิรุฬหกมหาราช ประจำอยู่ทิศใต้
  3. วิรูปักษ์มหาราช ประจำอยู่ทิศตะวันตก
  4. เวสสุวัณมหาราช ประจำอยู่ทิศเหนือ



ทรงเป็นอธิบดีผู้มีมเหศักดิ์ปกครองดูแล เพราะฉะนั้น สรวงสวรรค์ชั้นนี้ จึงมีนามว่า จาตุมหาราชิกาเทวภูมิ  ภูมิเป็นที่อยู่แห่งทวยเทพอันมีท้าวจาตุมหาราชทรงเป็นอธิบดีเมืองสวรรค์ชั้นฟ้า อันมีนามว่า จาตุมหาราชิกานี้ มีเมืองใหญ่ซึ่งเป็นเทพนครอยู่ถึง ๔ พระนคร แต่ละพระนครมีปราการกำแพงทองทิพย์เหลืองอร่ามแลดูงามนักหนา

ซ้ำประดับประดาไปด้วยสัตตรัตนะแก้ว ๗ ประการ บานประตูแห่งกำแพงทองทิพย์นั้น แล้วไปด้วยแก้ววิเศษแสนประเสริฐ และมีปราสาทอันรุ่งเรืองสวยงามอยู่เหนือประตูทุกๆประตู 

ภายในเทพนครอันกว้างใหญ่ไพศาลนั้น มีปราสาทแก้วอันเป็นวิมานที่อยู่แห่งเทพยดาชาวฟ้าทั้งหลาย ปรากฏตั้งอยู่เรียงรายมากมาย ฝ่ายพื้นภูมิภาคนั้นเล่า ก็หาใช่เป็นพื้นแผ่นปฐพีดังมนุษย์โลกเรานี้ไม่ โดยที่แท้ เป็นพื้นแผ่นสุวรรณทองคำ มีสีเหลืองอร่ามรุ่งเรืองเลื่อมพรรณรายราบเรียบเสมอมีครุวนาดุจหน้ากล้อง และมีความวิเศษอ่อนนิ่มดังฟูกผ้าเมื่อฝูงเทพยดาทั้งหลายเหยียบลงไป ก็มีลักษณะการอ่อนยุบลง แล้วก็เต็มขึ้นมาดังเดิม มิได้เห็นรอยเท้าของเทพยดาทั้งหลายเหล่านั้นเลย 

สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาเทวภูมินี้ นอกจากจะมีสมบัติทิพย์อันอำนวยความสุขให้แก่ปวงเทพยดานานาประการแล้ว ยังมีสระโบกขรณีอันมีน้ำใสยิ่งกว่าแก้ว เต็มไปด้วยปทุมชาตินานาชนิด ส่งกลิ่นทิพย์หอมตลบอบอวลไปทั่วบริเวณเป็นดั่งเช่นมีใครแสร้งเอาน้ำอบน้ำหอมไปประพรหมไว้ตลอดกาลฉะนั้น มีดอกไม้นานาพรรณสีสันวิจิตรตระการตา และมีรุกชาติต้นไม้สวรรค์อันแสนประเสริฐนักหนา  ด้วยว่ามีผลปรากฏประกอบไปด้วยโอชารสอันยิ่ง  แลอันว่ามิ่งไม้ในสรวงสวรรค์นั้น  ย่อมมีดอกมีผลอันเป็นทิพย์  ปรากฏให้เหล่าชาวสวรรค์ได้ชื่นชมอยู่ตลอดกาลไม่มีวันร่วงโรยและหมดไปเลย

อายุของเทพชั้นนี้
ชั้นจาตุมีอายุ 500 ปีทิพย์ 1 วันทิพย์ เท่ากับ 50 ปีโลกมนุษย์ ดังนั้นเท่ากับ 500X360X50 = 9,000,000 ปี

ทางไปสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา 


"ดูกรสารีบุตร ! ในการให้ทานนั้น บุคคลตั้งความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน  ให้ทานด้วยคิดว่า  เราตายไปแล้ว  จักได้เสวยผลแห่งทานนี้  เขาผู้นั้นให้ทานแล้ว  เมื่อตายไป  ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมหาราช"

อ้างอิง :พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต ทานสูตร




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น